ร่วมมือกับพระเจ้า

เมื่อเพื่อนของผมและสามีของเธอมีปัญหามีบุตรยาก แพทย์ได้แนะนำให้เธอใช้วิธีทางการแพทย์ แต่เพื่อนผมลังเล “การอธิษฐานไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาของเราหรือ” เธอพูด “ฉันจำเป็นต้องใช้วิธีนั้นจริงๆหรือ” เพื่อนของผมกำลังพยายามหาคำตอบว่ามนุษย์มีบทบาทอย่างไรในการทำงานของพระเจ้า

เรื่องที่พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารฝูงชนสามารถช่วยเราได้ (มก.6:35-44) เราคงรู้แล้วว่าเรื่องนั้นจบลงโดยที่หลายพันคนได้มีอาหารกินอย่างน่าอัศจรรย์ด้วยขนมปังเพียงเล็กน้อยกับปลาไม่กี่ตัว (ข้อ 42) แต่ให้เราสังเกตว่าใครเป็นคนเลี้ยงฝูงชน คำตอบคือบรรดาสาวก (ข้อ 37) แล้วใครเป็นคนจัดหาอาหาร ก็พวกเขาอีกนั่นแหละ (ข้อ 38) ใครเป็นคนแจกอาหารและเก็บกวาดในภายหลัง ก็พวกสาวก (ข้อ 39-43) พระเยซูตรัสว่า “พวก​ท่าน​จง​เลี้ยง​เขา​เถิด” (ข้อ 37) พระเยซูทรงกระทำการอัศจรรย์แต่นั่นเกิดขึ้นเมื่อเหล่าสาวกลงมือทำ

ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์คือของขวัญจากพระเจ้า (สดด.65:9-10) แต่ชาวนายังคงต้องลงมือลงแรง พระเยซูทรงสัญญาว่าเปโตรจะได้ “จับปลา” แต่ชาวประมงผู้นี้ยังคงต้องทอดอวน (ลก.5:4-6) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถดูแลโลกและสร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นได้โดยไม่มีเรา แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว พระองค์ทรงเลือกที่จะทำงานผ่านความร่วมมือระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์

เพื่อนของผมใช้วิธีที่แพทย์แนะนำและต่อมาก็ตั้งครรภ์ได้สำเร็จ แม้นี่จะไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับปาฏิหาริย์ แต่ก็เป็นบทเรียนสำหรับผมและเพื่อน พระเจ้ามักจะทรงทำการอัศจรรย์ของพระองค์ผ่านวิธีการที่พระองค์ได้ทรงมอบไว้ในมือของเราแล้ว

จังหวะของความสุข

ไปด้วยจังหวะของความสุข วลีนี้เข้ามาในความคิดขณะที่ผมกำลังอธิษฐานใคร่ครวญถึงปีหน้าในเช้าวันหนึ่ง และนี่ช่างดูเหมาะเจาะ ผมมีแนวโน้มที่จะทำงานหนักเกินไป ซึ่งมักจะบั่นทอนความชื่นชมยินดีของผม ดังนั้นเพื่อจะทำตามคำแนะนำนี้ ในปีหน้าผมจึงตั้งใจจะทำงานให้มีความสุขโดยไม่เร่งรีบหรือหักโหมเกินไป มีเวลาให้กับเพื่อนๆ และทำกิจกรรมสนุกๆ

แผนนี้ไปได้สวย...จนกระทั่งเดือนมีนาคม! เมื่อผมร่วมงานกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเพื่อดูแลหลักสูตรทดลองที่ผมกำลังพัฒนา เนื่องจากนักศึกษาต้องลงทะเบียนและใกล้จะเปิดเทอมแล้ว ผมจึงต้องทำงานเป็นเวลานานหลายชั่วโมงเพื่อให้ทันกำหนด แล้วผมจะไปด้วยจังหวะของความสุขได้อย่างไรในตอนนี้

พระเยซูทรงสัญญาถึงความสุขยินดีแก่ผู้ที่เชื่อในพระองค์ ซึ่งเราจะได้รับโดยยึดมั่นอยู่ในความรักของพระองค์ (ยน.15:9) และทูลถึงความต้องการของเราด้วยการอธิษฐาน (16:24) พระองค์ตรัสว่า “นี่คือสิ่งที่เราได้บอกแก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราดำรงอยู่ในท่าน และให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม” (15:11) ความยินดีนี้เป็นของขวัญที่มอบให้เราทางองค์พระวิญญาณ ผู้ซึ่งเราดำเนินชีวิตตาม (กท.5:22-25) ผมพบว่าตัวเองจะรักษาความสุขยินดีนี้ไว้ในช่วงที่งานยุ่งได้เมื่อผมใช้เวลาแต่ละคืนอธิษฐานด้วยความสงบและไว้วางใจ

เพราะความสุขยินดีสำคัญมาก เราจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในการจัดตารางเวลาของเรา แต่เพราะเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตได้ ผมจึงดีใจที่พระวิญญาณผู้ทรงเป็นอีกแหล่งหนึ่งของความยินดีสถิตอยู่กับเรา สำหรับผมตอนนี้ การไปด้วยจังหวะของความสุขหมายถึงการไปด้วยจังหวะของการอธิษฐาน โดยการหาเวลาเพื่อจะรับจากผู้ประทานความยินดี

การเสด็จกลับมาของกษัตริย์

ด้วยจำนวนผู้ชมทั่วโลกประมาณพันล้านคน พระราชพิธีพระบรมศพของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 จึงอาจเป็นการออกอากาศที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ในวันนั้นมีหนึ่งล้านคนเรียงรายตามท้องถนนในนครลอนดอน และมี 250,000 คนเข้าแถวเป็นเวลาหลายชั่วโมงในสัปดาห์นั้นเพื่อดูหีบพระบรมศพ เป็นประวัติการณ์ที่มีกษัตริย์ ราชินี ประธานาธิบดี และประมุขแห่งรัฐอื่นๆกว่าห้าร้อยพระองค์ มาเพื่อยกย่องสตรีผู้มีชื่อเสียงในอำนาจและเกียรติคุณของพระองค์

ขณะที่โลกหันสายตาไปที่สหราชอาณาจักรและพระราชินีที่จากไป ความคิดของผมก็หันไปที่อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือการเสด็จกลับมาขององค์กษัตริย์ เราได้ยินว่าวันหนึ่งจะมาถึง เมื่อบรรดาประชาชาติจะมารวมตัวกันเพื่อยกย่องกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก (อสย.45:20-22) ผู้นำที่ทรงอานุภาพและพระเกียรติคุณ (ข้อ 24) “ทุกเข่าจะกราบลง” และ “ทุกลิ้นจะปฏิญาณ” ต่อพระองค์ (ข้อ 23) รวมถึงผู้นำของโลกที่จะถวายคำสรรเสริญแด่พระองค์และนำประชาชาติของตน เดินไปในความสว่างของพระองค์ (วว.21:24, 26) ไม่ใช่ทุกคนจะต้อนรับการเสด็จมาถึงของกษัตริย์พระองค์นี้ แต่บรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์จะชื่นชมยินดีกับการครองราชย์เป็นนิตย์ของพระองค์ (อสย.45:24-25)

เหมือนที่โลกรวมตัวกันเพื่อชมการจากไปของพระราชินี วันหนึ่งโลกจะได้เห็นจอมกษัตริย์ผู้สูงสุดเสด็จกลับมา วันนั้นจะเป็นวันที่ทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกก้มกราบลงต่อพระเยซูคริสต์ และยอมรับพระองค์ว่าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า (ฟป.2:10-11)

ที่ทำงานแบบอาณาจักรสวรรค์

ในยุควิกตอเรียของประเทศอังกฤษนั้นโรงงานเป็นสถานที่ที่มืดมน อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีสูงและคนงานมักมีชีวิตยากจน “คนทำงานจะมีความคิดใหม่ๆได้อย่างไรเมื่อบ้านของพวกเขาเป็นสลัม” จอร์จ แคดเบอรี่ตั้งคำถาม เขาจึงสร้างโรงงานแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อขยายกิจการช็อกโกแลต โดยเป็นโรงงานที่เอื้อประโยชน์ต่อคนงานของเขา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือหมู่บ้านบอร์นวิลล์ที่มีมากกว่าสามร้อยหลังคาเรือน พร้อมด้วยสนามกีฬา สนามเด็กเล่น โรงเรียนและโบสถ์สำหรับคนงานของแคดเบอรี่และครอบครัว พวกเขาได้รับค่าจ้างที่ดีพร้อมด้วยสิทธิ์รักษาพยาบาล ทั้งหมดนี้เพราะความเชื่อในพระคริสต์ของแคดเบอรี่

พระเยซูสอนเราที่จะอธิษฐานให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า “ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” (มธ.6:10) คำอธิษฐานนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพอย่างที่แคดเบอรี่เห็น ว่าที่ทำงานของเราจะเป็นเช่นไรภายใต้การปกครองของพระเจ้า ที่ที่เราได้รับ “อาหารประจำวัน” และ “ผู้ที่ทำผิด” ต่อเราได้รับการยกโทษ (ข้อ 11-12) สำหรับลูกจ้างแล้วนี่หมายถึงการทำงาน “ด้วยความเต็มใจ...ถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า” (คส.3:23) สำหรับนายจ้าง นี่หมายถึงการให้สิ่งที่ “ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน” (4:1 THSV11) ไม่ว่าบทบาทหน้าที่ของเราคืออะไร ได้รับค่าจ้างหรือเป็นอาสาสมัคร นี่หมายถึงการที่เราดูแลคนเหล่านั้นที่เราร่วมรับใช้ด้วย

เช่นเดียวกับจอร์จ แคดเบอรี่ ขอให้เราจินตนาการว่าสิ่งรอบตัวจะแตกต่างไปอย่างไรถ้าพระเจ้าทรงเป็นผู้นำในละแวกบ้านหรือที่ทำงานของเรา เพราะเมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้นำ ผู้คนจะเกิดผลและงอกงาม

ขอความช่วยเหลือด้วยใจถ่อม

เมื่องานปาร์ตี้ใกล้เข้ามาผมและภรรยาก็เริ่มวางแผน จะมีคนมากมายมาร่วมงาน เราควรจ้างคนทำอาหารหรือไม่ ถ้าเราจะทำอาหารเองเราควรซื้อเตาบาร์บีคิวไหม แล้วเราควรซื้อเต็นท์ด้วยหรือเปล่าเพราะมีโอกาสที่ฝนอาจจะตกวันนั้น ภายในเวลาไม่นานงานปาร์ตี้ของเราเริ่มมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นและดูเหมือนไม่พึ่งพาคนอื่นเลย การพยายามเตรียมทุกอย่างด้วยตัวเราเองทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น

ภาพของชุมชนตามพระคัมภีร์นั้นต้องมีทั้งการให้และรับ แม้ก่อนการล้มลงในความบาป อาดัมเองก็ต้องการความช่วยเหลือ (ปฐก.2:18) และเราถูกเรียกให้แสวงหาคำแนะนำจากคนอื่น (สภษ.15:22) และแบ่งเบาภาระของกันและกัน (กท.6:2) คริสตจักรยุคแรกเอา “ทรัพย์สิ่งของมารวมกันเป็นของกลาง” และได้ผลประโยชน์จาก “ที่ดินและทรัพย์สิ่งของ” ของกันและกัน (กจ.2:44-45) แทนที่จะแยกกันใช้ชีวิต พวกเขากลับแบ่งปัน หยิบยืม ให้และรับอยู่ภายใต้การพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างงดงาม

สุดท้ายเราขอให้แขกช่วยกันนำสลัดหรือของหวานมาร่วมงานปาร์ตี้ เพื่อนบ้านเราเอาเตาย่างบาร์บีคิวมา และเพื่อนอีกคนเอาเต็นท์มา การขอความช่วยเหลือทำให้เราได้สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้น และอาหารที่ทุกคนนำมาช่วยเพิ่มสีสันและความหลากหลาย ในช่วงอายุของเราการพึ่งพาตัวเองอาจเป็นเหตุให้เกิดความเย่อหยิ่ง แต่พระเจ้าทรงประทานพระคุณ “แก่คนที่ใจถ่อม” (ยก.4:6) รวมถึงคนเหล่านั้นที่ร้องขอความช่วยเหลือด้วยความถ่อมใจ

การห่วงใยอย่างฉลาด

ภาพที่เห็นช่างน่าสะเทือนใจ ฝูงวาฬนำร่องพากันขึ้นมาเกยตื้นบนชายหาดของประเทศสก็อตแลนด์ บรรดาอาสาสมัครพยายามที่จะช่วยชีวิตพวกมัน แต่สุดท้ายพวกมันก็เสียชีวิต ไม่มีใครรู้ว่าวาฬจำนวนมากขนาดนี้ขึ้นมาเกยตื้นเพราะอะไร แต่อาจเป็นเพราะสายสัมพันธ์ทางสังคมอันแน่นแฟ้นของพวกมัน เมื่อตัวหนึ่งเกิดปัญหา ตัวอื่นๆที่เหลือจะมาช่วย นี่คือสัญชาตญาณแห่งความห่วงใยที่กลับนำไปสู่อันตราย

พระคัมภีร์เรียกร้องอย่างชัดเจนให้เราช่วยเหลือผู้อื่น แต่ก็ให้เรามีความเฉลียวฉลาดด้วยว่าจะช่วยอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราช่วยฟื้นฟูใครคนหนึ่งที่ตกอยู่ในบาป เราต้องระมัดระวังที่จะไม่ถูกดึงลงไปสู่บาปนั้นเสียเอง (กท.6:1) และในขณะที่เราต้องรักเพื่อนบ้าน เราก็ต้องรักตนเองด้วย (มธ.22:39) สุภาษิต 22:3 กล่าวว่า “คน​หยั่ง​รู้​เห็น​อันตราย​และ​ซ่อน​ตัว​ของ​เขา​เสีย แต่​คน​เขลา​เดิน​เรื่อยไป และ​รับ​อันตราย​นั้น” นี่เป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีเมื่อการช่วยเหลือผู้อื่นกำลังจะทำให้เรามีอันตราย

เมื่อไม่กี่ปีก่อนมีคนยากจนอย่างมากสองคนเข้ามาร่วมคริสตจักรของเรา ไม่นานพี่น้องสมาชิกที่ห่วงใยต้องเดือดร้อนจากการช่วยเหลือพวกเขา ทางออกไม่ใช่การปฏิเสธสามีภรรยาคู่นั้น แต่เป็นการกำหนดขอบเขตเพื่อผู้ที่ช่วยเหลือจะไม่ต้องเดือดร้อน พระเยซูองค์พระผู้ช่วยสูงสุดทรงใช้เวลาสำหรับการพักผ่อน (มก.4:38) และพระองค์ทรงดูแลไม่ให้ความต้องการของคนอื่นๆมาแทนที่ จนความต้องการของสาวกถูกละเลย (6:31) การห่วงใยอย่างฉลาดคือการทำตามแบบอย่างของพระองค์ การดูแลสุขภาพของเราเองจะทำให้เราสามารถห่วงใยดูแลผู้อื่นได้ในระยะยาว

ให้การนมัสการมาก่อน

ผมไม่เคยคิดที่จะก่อตั้งองค์กรการกุศลซึ่งทำงานที่เกี่ยวกับมิตรภาพของผู้ใหญ่มาก่อน และเมื่อผมรู้สึกว่าได้รับการทรงเรียกให้ทำเช่นนั้น ผมก็มีคำถามมากมาย องค์กรนี้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากที่ไหนและใครควรจะช่วยผมจัดตั้งมันขึ้นมา ความช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มาจากหนังสือที่เกี่ยวกับธุรกิจ แต่มาจากพระคัมภีร์

พระธรรมเอสราเป็นหนังสือที่จำเป็นสำหรับใครก็ตามที่พระเจ้าทรงเรียกให้สร้างบางสิ่ง พระธรรมเล่มนี้เล่าถึงวิธีการที่ชาวยิวซึ่งตกไปเป็นเชลยกลับมาสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ โดยแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงจัดเตรียมเงินทุนสนับสนุนผ่านการบริจาคของประชาชน และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างไร (อสร.1:4-11; 6:8-10) รวมทั้งวิธีในการทำงานทั้งของอาสาสมัครและผู้รับเหมา (1:5; 3:7) และยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของช่วงเวลาในการตระเตรียม โดยการก่อสร้างจะไม่เริ่มต้นจนกว่าจะถึงปีที่สองที่ชาวยิวเดินทางกลับมา (3:8) เอสรายังแสดงให้เห็นว่าการต่อต้านอาจเกิดขึ้นได้อย่างไร (บทที่ 4) แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเรื่องนี้เป็นพิเศษคือ หนึ่งปีเต็มก่อนที่การสร้างพระวิหารจะเริ่มขึ้น ชาวยิวได้สร้างแท่นบูชา (3:1-6) และนมัสการพระเจ้า ทั้งๆที่ “ยังมิได้วางฐานพระวิหารของพระเจ้า” (ข้อ 6) การนมัสการมาก่อนสิ่งอื่นใด

พระเจ้ากำลังเรียกคุณให้เริ่มต้นสิ่งใหม่หรือไม่ หลักการของเอสราเป็นสิ่งที่เฉียบแหลม ไม่ว่าคุณจะเริ่มงานการกุศล การศึกษาพระคัมภีร์ โครงการที่สร้างสรรค์ หรืองานใหม่ๆในที่ทำงาน แม้แต่โครงการที่พระเจ้าประทานให้ก็อาจดึงความสนใจของเราไปจากพระองค์ได้ ดังนั้นให้เรามุ่งความสนใจไปที่พระเจ้าก่อน ให้เรานมัสการพระองค์ก่อนที่จะเริ่มต้นงานใดๆ

การเดินทางของชีวิต

ผู้คนมากกว่าสองร้อยล้านคนจากหลากหลายความเชื่อออกเดินทางแสวงบุญในแต่ละปี สำหรับผู้คนมากมายในหลายยุคที่ผ่านมานั้นการไปแสวงบุญคือ การเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อรับการอวยพร เป้าหมายคือการไปยังวัด โบสถ์ ศาลเจ้า หรือจุดหมายปลายทางอื่นๆที่จะสามารถขอพรได้

อย่างไรก็ตาม ชาวคริสเตียนเคลติกในอังกฤษกลับมองเรื่องการเดินทางแสวงบุญแตกต่างออกไป พวกเขาออกเดินทางอย่างไร้จุดหมายเข้าไปในป่า หรือปล่อยให้เรือล่องลอยไปตามน้ำในมหาสมุทร การแสวงบุญสำหรับพวกเขาคือการไว้วางใจพระเจ้าในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย การอวยพรใดๆนั้นไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทางแต่พบได้ตลอดการเดินทาง

ฮีบรู 11 เป็นพระธรรมตอนสำคัญสำหรับชาวเคลต์ เนื่องจากชีวิตในพระคริสต์คือการละทิ้งทางของโลกไว้เบื้องหลังและออกเดินทางอย่างคนต่างถิ่นไปยังเมืองของพระเจ้า (ข้อ 13-16) การแสวงบุญจึงสะท้อนถึงภาพการเดินทางชีวิตของพวกเขา การไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงเลี้ยงดูพวกเขาในตลอดเส้นทางที่ยากลำบากและยังไม่มีใครเคยไปมาก่อน ทำให้ผู้แสวงบุญได้พัฒนาความเชื่อศรัทธาแบบเดียวกับวีรบุรุษในสมัยโบราณ (ข้อ 1-12)

นี่เป็นบทเรียนที่ดีที่เราต้องเรียนรู้ไม่ว่าเราจะต้องออกเดินทางจริงๆหรือไม่ก็ตาม สำหรับผู้ที่เชื่อวางใจในพระเยซู ชีวิตคือการเดินทางไปยังเมืองสวรรค์ของพระเจ้า เป็นทางซึ่งเต็มไปด้วยป่ารกชัฏ ทางตัน และการทดลอง ในขณะที่เราเดินไปนั้น ขอให้เราไม่พลาดไปจากพระพรที่จะได้พบกับการทรงเลี้ยงดูของพระเจ้าไปตลอดเส้นทาง

แก้ไขด้วยการจูบ

ในอุปมาเรื่อง สตรีผู้มีปัญญา จอร์ช แม็คโดนัลด์ บอกเล่าเรื่องราวความเห็นแก่ตัวของเด็กหญิงสองคนที่นำความทุกข์ยากมาสู่ทุกคนรวมทั้งพวกเธอเอง จนกระทั่งสตรีผู้มีปัญญาได้ทดสอบพวกเธอเพื่อช่วยให้พวกเธอกลับมา “น่ารัก” อีกครั้ง

เมื่อเด็กหญิงไม่ผ่านการทดสอบแต่ละครั้ง ก็ต้องทุกข์ใจกับความอับอายและการแยกตัว ในที่สุดโรซามอนด์หนึ่งในนั้นก็ตระหนักว่าเธอไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ “ขอท่านช่วยหนูได้ไหม” เธอขอสตรีผู้มีปัญญา “บางทีฉันอาจช่วยได้” สตรีผู้นั้นตอบ “เพราะตอนนี้หนูขอฉัน” และด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า (สตรีผู้มีปัญญาเป็นภาพสัญลักษณ์เล็งถึงพระเจ้า) โรซามอนด์จึงเริ่มเปลี่ยนแปลง ต่อมาเธอขอให้สตรีนั้นยกโทษให้เธอในปัญหาทั้งหมดที่เธอก่อ “ถ้าฉันไม่ได้ยกโทษให้หนูแล้ว” สตรีผู้นั้นตอบ “ฉันคงไม่ต้องยุ่งยากในการหาวิธีมาทำโทษหนู”

มีช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงตีสอนเรา สิ่งที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่าทำไม การแก้ไขของพระองค์ไม่ได้เกิดจากการลงโทษ แต่เกิดจากความห่วงใยอย่างที่บิดามีต่อสวัสดิภาพของเรา (ฮบ.12:6) อีกทั้งทรงปรารถนาให้เรา “เข้าส่วนในวิสุทธิภาพของพระองค์” เพลิดเพลินกับการเก็บเกี่ยว “ความสุขสำราญ...คือความชอบธรรมนั้นเอง” (ข้อ 10-11) ความเห็นแก่ตัวนำมาซึ่งความทุกข์ยาก แต่ความบริสุทธิ์ทำให้เราสมบูรณ์ เบิกบาน และ “น่ารัก” เหมือนพระองค์

โรซามอนด์ถามสตรีผู้มีปัญญาว่าท่านรักเด็กหญิงที่เห็นแก่ตัวอย่างเธอได้อย่างไร สตรีนั้นก้มลงจูบเธอแล้วตอบว่า “ฉันเห็นว่าเธอจะเป็นอย่างไร” การแก้ไขของพระเจ้ามาพร้อมกับความรักและความปรารถนาด้วยเช่นกันที่จะทำให้เราเป็นอย่างที่เราควรจะเป็น

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา